ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

  การเกษตรในปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ทั้งในด้านของปริมาณและคุณภาพ ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรู พืช รวมไปถึงการใช้สารเคมีในการเพิ่มคุณภาพผลผลิต เพื่อให้ผลผลิตมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น และรสชาติดีขึ้น แต่ลืมคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ที่ได้รับสารต่างๆ เหล่านี้เข้าไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการต่างๆ หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้

 

 

 

 

คุณณัฎฐกิตติ์ ของทิพย์เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยว่า การเลือกบริโภคผักที่ปลอดภัย และการทำความสะอาดพืชผักก่อนบริโภค เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้ แต่ยังไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด แต่มีเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในการปลูกผัก ซึ่งได้รับการประสานจาก คุณสมชาย รื่นภาคตะยะ เกษตรอำเภอนากลาง ว่ามีเกษตรกรที่มีความสามารถในการปลูกผักปลอดสารพิษแบบไฮโดรโปนิกส์ และได้นำทีมงานสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมโครงการบำบัดทุกข์บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้กับประชาชน ที่บ้านหนองค้อ ตำบลนาแก อำเภอนาวัง และภาคบ่ายได้ออกติดตามในเขตพื้นที่อำเภอนากลาง พบกับสตรีที่เก่งจากกรุงเทพฯ จบพาณิชย์ เปิดร้านเสริมสวย สุดท้าย ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ

คุณวิภาพร บุญเซอร์เล่าให้ฟังว่า เดิมเป็นคนกรุงเทพฯ จบการศึกษาจากวิทยาลัยพณิชยการ ด้านการตลาด เปิดกิจการร้านเสริมสวยที่กรุงเทพฯ มาก่อน เป็นคนที่ชอบกินผัก โดยเฉพาะผักปลอดภัยจากสารเคมี ครั้งแรกทดลองนำผักมาปลูกที่ร้านเสริมสวยของตนเอง เพื่อปลูกกินเอง และได้แจกจ่ายให้ลูกน้อง และลูกค้าไปกิน ประกอบกับในปี 2554 มีพื้นที่ทำการเกษตรถูกน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้พืชผักมีราคาแพง และผักมีปริมาณน้อยทำให้ขาดตลาดและหาซื้อยาก จึงคิดหาวิธีไปปลูกผักในต่างจังหวัด

“ครั้ง แรกคิดว่าจะไปปลูกที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นบ้านของแฟน แต่คิดว่าจังหวัดสุโขทัยก็มีพื้นที่ประสบอุทกภัยเหมือนกัน และตัดสินใจปลูกที่จังหวัดหนองบัวลำภู ประกอบกับมีลุงและป้ามีครอบครัวบ้านหม่าน ตำบลกุดดินจี่ อำเภอนากลาง ได้แนะนำว่ามีคนต้องการขายที่ดินในเขตเทศบาลตำบลกุดดินจี่ และได้ศึกษาข้อมูลเป็นอย่างดี จึงตัดสินใจซื้อที่ และก่อนที่จะปลูกพืชผักปลอดสารพิษแบบไฮโดรโปนิกส์ โดยได้ศึกษาทางอินเตอร์เน็ต พร้อมได้ไปศึกษาดูงานแหล่งที่ประสบผลสำเร็จ เช่น ดูงานที่ฟาร์มบางไทรโกร และบ้านสวย”

คุณวิภาพร เล่าต่อว่า เริ่มทดลองปลูกครั้งแรก ในปี 2555 จำนวน 10 แปลง (ขนาดแปลงกว้าง 1x4 เมตร) ลงทุนใช้อุปกรณ์ในการปลูก แปลงละ 12,000 บาท รวมลงทุนครั้งแรก ประมาณ 120,000 บาท โดยได้จ้างช่างจากกรุงเทพฯ มาติดตั้งให้ที่บ้าน ปรากฏว่าได้ผลผลิตดีเกินคาด นำไปจำหน่ายในตลาดเทศบาลตำบลกุดดินจี่ โรงพยาบาลนากลาง ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นที่นิยมของลูกค้า ผลิตไม่เพียงพอ และได้ขยายแปลงปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน คุณวิภาพร มีแปลงปลูก จำนวน 50 แปลง ซึ่งผักที่ปลูก ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เรดซองตาเวีย กวางตุ้ง คะน้า และมะเขือเทศ อายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตขึ้นอยู่กับชนิดของผัก ส่วนใหญ่ประมาณ 30-35 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวจำหน่ายได้ โดยขายในรูปแบบแยกผัก หรือรวมทุกชนิดผักก็ได้ ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท สำหรับในปี 2555 ขายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,000-25,000 บาท ซึ่งมีรายจ่ายเดือนละ 6,000 บาท นับว่ามีรายได้ที่ดีกว่าเปิดร้านเสริมสวยอย่างมาก

การเพาะกล้า 

1. นำ ฟองน้ำ ความหนา 1 นิ้ว มาตัด ขนาด 1x1 นิ้ว และกรีดกากบาทบนฟองน้ำ ความลึกประมาณครึ่งของฟองน้ำ ควรใช้ฟองน้ำในการปลูกผักครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้อีกเนื่องจากจะมีรากอยู่ในฟองน้ำแล้ว

2. นำฟองน้ำแช่ในน้ำหรือชุบฟองน้ำให้ชุ่มน้ำเสียก่อน แล้วหยอดเมล็ดผักใส่ฟองน้ำ ใช้หยดแค่ 1-2 เมล็ด/ฟองน้ำ ทั้งนี้ความลึกของการวางเมล็ดในฟองน้ำ ควรต่ำกว่าผิวฟองน้ำ ประมาณ 1-3 เซนติเมตร

3. เติมน้ำใส่ถาดเพาะกล้า ประมาณครึ่งของความสูงฟองน้ำ แล้วนำกระดาษหนังสือพิมพ์หรือผ้าชุบน้ำให้ชุ่ม แล้วนำมาปิดบนถาดเพาะเมล็ด ทิ้งไว้ 3-4 วัน เมล็ดจะงอก และประมาณ 4-5 วัน เมล็ดผักจะแตกใบอ่อน 3-4 ใบ

การย้ายต้นกล้าลงแปลงปลูก ทำเมื่อต้นกล้าอายุได้ประมาณ 4-5 วัน นำไปปลูกในแปลงที่จัดเตรียมไว้

การใส่ปุ๋ย ใช้ปุ๋ย A และ ปุ๋ย B อัตราการใช้ 3 ซีซี/น้ำ 1 ลิตร ปุ๋ยทั้ง 2 ชนิด ต้องเก็บไว้ในที่ร่ม ไม่อับชื้น ไม่ควรถูกแดด เพราะปุ๋ยจะเสื่อมคุณภาพ

การให้น้ำ จะใช้วิธีสังเกตสภาพอากาศ ถ้าเป็นหน้าฝนและหน้าหนาว จะให้น้ำ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง แต่ถ้าร้อนจะให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง

เกษตร อำเภอนากลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า พืชผักที่กินโดยทั่วไป มักจะซื้อหากันตามตลาดท้องถิ่น ซึ่งมีการผลิตและจำหน่ายส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ จนกว่าจะถึงผู้บริโภค แหล่งผลิตพืชผักยังต้องพึ่งพาสารเคมี จึงจะได้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด ผลกระทบตามมาทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคย่อมมีสารพิษตกค้างในร่างกาย ดังนั้น ทางสำนักงานเกษตรอำเภอนากลาง พยายามส่งเสริมการปลูกพืชผักปลอดสารเคมี และได้กำหนดให้จุดศึกษาเรียนรู้ของอำเภอนากลาง เพื่อให้เกษตรกรที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ได้ หากเกษตรกรท่านใดสนใจวิธีการเพาะปลูก พร้อมสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์การเพาะปลูก ติดต่อได้ที่สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณวิภาพร บุญเซอร์ โทร. (081) 793-2791 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอนากลาง (042) 359-062

 

 

 

ที่มา:http://www.technologychaoban.com/news_detail.php?tnid=496&section=5

 

powered by social2s
รถตู้ให้เช่า จ.เลย หนองบัวลำภู

วิดีโอน่าสนใจ

Go to top